ข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ที่ควรรู้
การจ่ายดอกเบี้ย
หุ้นกู้โดยทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามแต่จะกำหนดไว้ เช่น งวดละ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้น แต่สำหรับหุ้นกู้บางตัว อาจจะจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ เดือน ส่วนหุ้นกู้ประเภท Zero - coupon จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยเลย มาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันกำหนดให้วันที่จ่ายดอกเบี้ยจะเป็นวันที่ตรงกันของทุกงวดที่จ่ายดอกเบี้ย เช่น ทุกๆ วันที่ 10 ของเดือนมีนาคม และเดือนกันยายน
ประเภทของหุ้นกู้ตามลักษณะการถือกรรมสิทธิ์
หุ้นกู้ชนิดจดทะเบียน (Registeres bonds)
เป็นหุ้นกู้ที่มีใบหุ้นระบุชื่อผู้ถือไว้เป็นหลักฐาน โดยผู้ถือหุ้นกู้ต้องจดทะเบียนกรรมกสิทธิ์ไว้ที่นายทะเบียน การจ่ายดอกเบี้ย จะเป็นการนำเข้าบัญชีเงินฝาก ตามที่ผู้มีชื่อในหุ้นกู้ระบุไว้กับนายทะเบียน
หุ้นกู้ประเภทโอนทางบัญชี (Book - entry bonds หรือ Scripless)
หุ้นกู้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นประเภทไม่มีใบหุ้น (Scripless) โดยจะมีการจดบัญชีผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์สามารถทำได้สะดวกเช่นเดียวกับ การซื้อขายหุ้นสามัญ
จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ
จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหับการขายหุ้นกู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป มักอยู่ระหว่าง 50,000 - 100,000 บาทขึ้นไป ในขณะที่การลงทุนในกองทุนรวมใช้จำนวนเงินเริ่มต้นในระดับต่ำตั้งแต่ระดับไม่กี่พันบาทจนถึงระดับ 10,000 บาทขึ้นไป
สภาพคล่องการซื้อขาย
สภาพคล่องการซื้อขายในตลาดรองตราสารหนี้ คือ ความสามารถในการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ที่ท่านลงทุนอยู่ โดยในกรณีที่มีสภาพคล่องสูงหมายถึงมีผู้ต้องการซื้อและต้องการขายตลอดเวลาทำให้สามารถซื้อหรือขายตราสารดังกล่าวได้ในตลาดรอง โดยมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงของราคาหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก
สำหรับกรณีที่ไม่มีสภาพคล่อง หมายถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือกระทำได้ไม่สะดวกเนื่องจากไม่มีผู้ที่จะซื้อหรือจะขายมากนัก ราคาที่ซื้อขายอาจผิดปกติได้ในกรณีที่ต้องการขายหรือซื้ออย่างเร่งด่วน หุ้นกู้มักมีสภาพคล่องการซื้อขายต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากมูลค่าที่เสนอขายมีขนาดเล็กกว่าพันธบัตรรัฐมาก และลักษณะของนักลงทุนในหุ้นกู้มักเป็นการซื้อเพื่อลงทุน
Dealer และ Broker
โดยทั่วไปวิธีการซื้อขายหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ในตลาดมักจะเป็นการซื้อขายจากพอร์ทของสถาบันการเงินผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) ให้แก่นักลงทุน Dealer ในตลาดตราสารหนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนายหน้า เช่น การซื้อขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ จึงมิได้คิดค่านายหน้า (Commission) จากการซื้อขาย แต่ผลตอบแทนที่ Dealer ได้รับจะอยู่ในรูปของส่วนต่างราคา (Spread) กล่าวคือเป็นเรื่องของการซื้อถูกขายแพงเพื่อทำกำไร โดยราคาที่ผู้ลงทุนซื้อขายจะเป็นราคาที่มีการบวกเพิ่มจากราคาต้นทุนของผู้ค้าตราสารหนี้ หรือ Dealer ไปเรียบร้อยแล้ว ในทางตรงข้าม Dealer อาจขาดทุนได้ในกรณีที่มีความผันผวนของราคา กล่าวคือ อาจต้องขาดทุนจากการขายเมื่อต้นทุนที่ซื้อมาแพงกว่าราคาที่ขายได้ ในกรณีที่สถานการณ์ด้านอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น การซื้อขายหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ อาจอยู่ในลักษณะของการเป็นนายหน้าได้ โดยผู้ซื้อผู้ขายจ่ายค่าตอบแทนแก่นายหน้า ซึ่งมักจะเป็นการซื้อขายในกรณีที่เป็นการจับคู่รายการซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์