5 ขั้นตอนง่ายๆ ในการซื้อขาย
ขั้นตอนการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มีวิธีง่ายๆ ดังนี้
1. เปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ เปิดบัญชีเพื่อทำการซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
2. เตรียมเงินประกันให้พร้อม
ในกรณีซื้อ หรือขายฟิวเจอร์ส ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายจะต้องวางเงินส่วนหนึ่งก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อขายไว้เป็นหลักประกัน เรียกว่า เงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งโบรกเกอร์จะเป็นผู้กำหนดว่าผู้ลงทุนจะต้องวางหลักประกันขึ้นต้นเป็นจำนวนเท่าไร
ในกรณีออปชั่น ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องวางเงินประกันขั้นต้นก่อนซื้อออปชั่น เนื่องจากผู้ซื้อสามารถจำกัดผลขาดทุนได้ จึ้งไม่มีความเสี่ยงว่าจะบิดพริ้วสัญญา หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือผู้ซื้อได้จ่ายค่าพรีเมี่ยมเป็นค่าซื้อออปชั่นหรือไม่ หรือจะปล่อยให้ออปชั่นหมดอายุไป จึงไม่มีความเสี่ยงว่าจะบิดพลิ้วสัญญาที่ทำไว้
แต่สำหรับผู้ขาย ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะบิดพริ้วสัญญา เนื่องจากหากผู้ซื้อออปชั่นขอใช้สิทธิ ผู้ขายจะต้องปฎิบัติตามสัญญาโดยยอมให้ผู้ซื้อ ใช้สิทธิ ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ปกติแล้วผู้ขายจะขาดทุน ผู้ขายออบชั่นมีแนวโน้มที่จะบิดพริ้ว สัญญามากกว่าผู้ซื้อ ดังนั้นในการขายออปชั่นผู้ขายจะต้องวางเงินประกันขั้นต้นก่อนการขายในระดับที่โบรกเกอร์กำหนด
3. ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ การส่งคำสั่งซื้อขายต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
ต้องการ "ซื้อ" หรือ "ขาย" อนุพันธ์ "ประเภทใด"
ต้องการ "ซื้อ" หรือ "ขาย" ที่สัญญาสิ้นสุดอายุเท่าใด "เดือนไหน"
ต้องการ "ซื้อ" หรือ "ขาย" ที่ "ราคา" เท่าใด
ต้องการ "ซื้อ" หรือ "ขาย" "จำนวน" กี่สัญญา
4. สรุปกำไรขาดทุนทุกวัน
ในกรณีฟิวเจอร์ส จะมีการคำนวณเงินกำไรขาดทุนทุกๆ สิ้นวันทำการ เรียกว่าการ Mark to Market หากลูกค้ามีผลกำไร ก็จะมีการโอนเงินส่วนกำไรเข้าบัญชีให้ในวันทำการถัดไป แต่หากขาดทุนก็จะมีการโอนเงินออกจากบัญชีผู้ลงทุนเช่นกัน ดังนั้น หลักประกันขึ้นต้นที่ลูกค้าวางไว้ตั้งแต่แรกอาจเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามจำนวนกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น ถ้ากำไรเงินในบัญชีจะเพิ่มสูงขึ้น แต่หากขาดทุน เงินในบัญชีจะลดลง และหากขาดทุนไปเรื่อยๆ จนต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้คือ "หลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin)" โบรกเกอร์จะเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า "Margin Call" โดยลูกค้าต้องนำเงินมาวางเพิ่มให้เท่ากับเงินประกันขั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง
ในกรณีออปชั่น หากเป็นฝั่งผู้ซื้อ ซึ่งไม่มีการวางเงินประกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ก็จะไม่มีการ Mark to Market เช่นกัน แต่สำหรับฝั่งผู้ขาย การ Mark to Market จะแตกต่างจากของฟิวเจอร์ส คือจะไม่มีการโอนเงินกำไรขาดทุนทุกสิ้นวัน แต่จะมีการคำนวณหลักประกันขั้นต้นและหลักประกันการรักษาสภาพใหม่ทุกวัน ตามความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เงินหลักประกันของผู้ลงทุนจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากวันใดที่ระดับสินทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยน ทำให้ผู้ขายมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จนโบรกเกอร์กำหนดหลักประกันใหม่ที่สูงกว่าระดับเงินที่ขายวางไว้ ผู้ขายออปชั่นก็จะต้องนำเงินประกันมาวางเพิ่มเติมให้มีค่าอย่างน้อยเท่ากับหลักประกันขั้นต้นค่าใหม่ที่โบรกเกอร์กำหนด
5. เช็คสถานะ
เมื่อซื้อขายฟิวเจอร์สหรือออปชั่นไปแล้ว ผู้ลงทุนควรตรวจสอบสถานะของตนอยู่ตลอดเวลา ว่ามีกำไรหรือขาดทุนเป็นอย่างไรบ้าง โดยตรวจสอบว่า
- ได้กำไรเป็นที่น่าพอใจหรือไม่มีโอกาสที่จะได้รับกำไรต่อไปมากน้อยแค่ไหน?
- ยังสามารถทนต่อระดับการขาดทุนที่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่มเติมทุกวันได้หรือไม่ ?
ทั้งนี้ ผู้ซื้อหรือผู้ขาย สามารถเลือกที่จะปิดสถานะของตนเองได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอจนสัญญาสิ้นสุดอายุ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อสามารถขายสัญญาที่ตนเคยซื้อไว้ ในขณะที่ผู้ขายก็สามารถซื้อสัญญาที่ตนเคยขายไว้เพื่อเป็นการปิดสถานะได้