Convertible bond ตปท. มีสิทธิในการ Shortsales (24 กรกฎาคม 2560)
กรณีศึกษา บริษัท Singha Estate
July 24, 2017, พิมพ์ฝัน เจียรพิพัฒนกุล
เมื่อเช้า (27 ก.ค. 60) ตอนเปิดตลาด วันนี้ก็มีความตกใจว่าทำไมราคาหุ้น S หรือบริษัท Singha Estate ในตลาดหุ้นของเราร่วงลงมาทำจุดต่ำสุดของวันได้มากถึง 6% ทั้งๆที่เราก็ตามข่าวตัวนี้มาตลอดเพราะสนใจในเรื่อง Earning ของบริษัทปีนี้ที่จะบันทึกมากเป็นพิเศษจากการขายอสังหาฯ เลยรีบหาข่าวทันทีว่าอะไรที่มันเป็นเหตุให้ราคาปรับตัวลงมาได้มากขนาดนี้ เพราะถ้าลองไปคีย์ดูบริษัทอสังหาริมทรัพย์ตัวอื่นใน Sector เดียวกันที่มีอยู่ 20 ตัวก็จะพบว่ามีเพียงแค่ 4 ตัวเท่านั้นที่ติดลบและติดลบไม่ถึง 1% ในระหว่างวัน ส่วนที่เหลือนั้นส่วนใหญ่วันนี้จะค่อนข้างจะเป็นไปในแนวทางบวกมากกว่าหรืออย่างน้อยก็คือราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
แหล่งข้อมูลแรกที่เรารีบเข้าไปสำรวจก่อนใครเพื่อนก็คือ www.set.or.th แหล่งที่เราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเป็นที่แรก หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศอย่างชัดเจนว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดต้องประกาศข้อมูลทุกอย่างที่เป็นทางการผ่านเว็บไซต์นี้เท่านั้น การที่ราคาของบริษัท Singha Estate ลงมามากขนาดนี้ มันมีอะไรที่จริงๆแล้วเราพลาดไปรึเปล่า
เมื่อเข้าไปที่เว็บของตลาดฯ และคีย์ชื่อหุ้น S และคลิกไปที่แท๊ปข่าว (หรือจะคลิกจากลิงค์นี้ก็ได้ง่ายดี แปะให้ http://bit.ly/2ePXP33) เราก็จะพบว่าหากไล่ดูเรื่องราวของบริษัท Singha Estate ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญอย่างน้อยๆ 2 ประเด็น และเป็นการเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ลองดูตั้งแต่วันที 7 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา ได้แก่
2. การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (อันนี้ก็ท่าทางจะต้องไปอ่านทำความเข้าใจอีกเยอะ เพราะไม่ค่อยถนัดเรื่องหุ้นกู้ฯ)
โดยทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือทางการเงินที่บริษัทสามารถทำได้หากได้รับการอนุมัติและมีผู้ลงทุนที่มีความสนใจอยากจะใส่เงินให้บริษัทเพิ่ม และโดยวิธีเสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยข้อดีของวิธีการนี้คือบริษัทก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
ในวันที่มีกาศประกาศการเพิ่มทุนนั้น ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ราคาหุ้น S ในตลาดก็ไม่ได้มีผลกระทบทางด้านราคามากนักเนื่องจากยังไม่มีการกำหนดราคาเพิ่มทุน จึงทำให้ในวันที่ 7 – 12 กรกฎาคม ราคาหุ้นจึงแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆ ช่วง 4.58-4.66 ก็ดูไม่ได้น่าจะตื่นเต้นหรือน่าสนใจอะไร จนเมื่อมีการกำหนดราคาเพิ่มทุนที่ 4.16 บาทและประกาศขายเฉพาะเจาะจงให้นักลงทุนสถาบันและได้ป่าวประกาศออกมาทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ของช่วงเช้าวันที่ 13 กรกฏาคม ที่ผ่านมา
โอ้โห ไม่อยากจะคิดว่าในวันนั้นใครที่ถือหุ้น S อยู่ในมือวันนั้นจะรู้สึกยังไง แค่เปิดตลาดมาราคาหุ้น S ก็ร่วงเอา ๆ เป็นแรงขายจากความกังวลเรื่อง Dilution effect ของหุ้นเพิ่มทุนที่จะเข้ามากว่า 400 ล้านหุ้นที่ราคา 4.16 บาท ในวันนั้นแหล่งข่าวต่างๆก็ได้พูดถึงแต่เรื่องการเพิ่มทุนที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาดในขณะนั้นและก็เป็นสาเหตุให้เกิดการไหลลงของราคา หลังจากวันที่ 13 เป็นต้นมาหุ้น S จึงลงมาเทรดที่กรอบราคาใหม่ที่ 4.18 -4.32 และในวันที่ 20 กรกฏาคมก็ได้มีประกาศเป็นทางการว่าหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 400 ล้านหุ้นนั้นจะเข้ามาซื้อขายในตลาดได้ในวันที่ 21 กรกฏาคม ซึ่งเมื่อถึงวันที่หุ้นเพิ่มทุนเข้าซื้อขายราคาหุ้น S ก็ไม่ได้ถูกขายลงมาอย่างมีนัยยะเพราะหากไปดูกรอบราคาในช่วงวันที่ 21-26 กรกฎาคมแล้วก็จะพบว่าเทรดเป็นปกติอยู่ในระดับราคา 4.18-4.28 บาทซึ่งเป็นราคาที่สะท้อนข่าวเรื่องการเพิ่มทุนในช่วงก่อนหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
แต่เพราะเหตุไฉน หุ้นรับข่าวเพิ่มทุนไปแล้วทำไมวันนี้ถึงลงมาได้มากถึง 6% อีกล่ะคะ!?!?
สิ่งที่นักลงทุนอาจไม่ทันได้ระวังคือ การไม่อ่านประกาศให้ละเอียดมากพอ จึงทำให้ไม่ทราบถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ หากย้อนกลับไปในวันที่ 13 กรกฎาคม ในช่วงนั้นไม่มีสื่อใดที่พูดถึงเรื่องประกาศอีกฉบับหนึ่งที่ออกมาวันเดียวกันและเวลาเดียวกันกับประกาศเรื่องการเพิ่มทุน ซึ่งก็คือประกาศเรื่อง “การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ” ซึ่งถ้าหากเรานั่งอ่านประกาศฉบับนั้นจนจบเราก็พอจะจับใจความได้ว่า ในรายละเอียดของหุ้นกู้แปลงสภาพนั้นมีตอนหนึ่งแจ้งว่า Singha Property Management (Singapore) Pte.Ltd. หรือเรียกชื่อย่อว่า SPM SG ซึ่งถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ S ในประเทศไทยในลำดับที่ 3 และทาง SPM SG ได้เข้าทำสัญญายืมและให้ยืมหุ้น กับ Credit Suisse AG,Hongkong (CS) เป็นจำนวน 626 ล้านหุ้นโดยประมาณ ซึ่งสัญญานี้เป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเสนอขายหุ้นกู้ฯ และหมายความว่า CS สามารถยืมหุ้นของบริษัทได้ 626 ล้านหุ้นเพื่อนำหุ้นจำนวนนี้ไปให้ผู้ถือหุ้นกู้ฯของบริษัทยืมเพื่อไปทำการ Shortsales ได้ โดยมีโน๊ตเล็กๆแปะเอาไว้ให้นักลงทุนที่ก่อนหน้านี้อาจจะยังอ่านมาไม่ถึง ได้ใจความสั้นๆว่า ทั้งนี้ SBL Transaction นั้นเป็นเรื่องปกติที่จะมีแนบมาในรายละเอียดของการออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนต่างประเทศ และช่วยทำให้ขายหุ้นกู้ฯได้ง่ายยิ่งขึ้น เรานักลงทุนไทยที่ยังไม่เคยได้รู้ถึงเรื่องนี้ก็โปรดทราบโดยทั่วกันนะคะว่ามีรายละเอียดแบบนี้อยู่
โดยสรุปของพฤติกรรมราคาของหุ้น S ในวันนี้ลงมามากก็คือน่าจะเป็นเพราะหุ้นที่เกิดจากการทำ Shortsales โดยกลุ่มนักลงทุนที่ถือหุ้นกู้แปลงสภาพและมองว่าราคาหุ้น S นั้นน่าจะเป็นขาลงในช่วงนี้ และก็ไม่แปลกที่การเกิด shortsales เกิดขึ้นในช่วงนี้เพราะทางบริษัท Sigha Estate ก็ได้ประกาศในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แล้วว่า ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เป็นวันที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ได้รับหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัท สิงห์เอสเตท เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
สุดท้ายสำหรับกรณีนี้สอนเราให้รู้ว่า ต้องเป็นคนละเอียดนะคะ และเป็นคนรักการอ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราในฐานะนักลงทุนหุ้นตัวใดก็ตามในตลาดเราต้องติดตามรายละเอียดอย่างใกล้ชิดและอ่านให้ครบทุกข้อมูลเพราะประกาศต่างๆที่ทางบริษัทกำลังดำเนินการนั้นจะมีผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรู้ข่าวสารประเด็นประเภทนี้ให้ดี ถ้าหากเรารู้ไม่ครบก็จะหมายความว่าเราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าเรากำลังเสี่ยงกับเรื่องใดอยู่บ้าง และทำให้เราจำกัดความเสี่ยงได้ไม่แม่นยำ สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้กับการเลือกเพียงบางประเด็นมาทำข่าวอย่างเช่นในกรณีของ Singha Estate นั้นคือนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องประเด็นการเพิ่มทุนมากกว่าประเด็นการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ และหุ้นกู้นั้นดูไม่ใกล้ตัวเท่ากับ dilution effect ของการเพิ่มทุน จึงทำให้อาจจะอ่านรายละเอียดไปไม่ถึงเรื่องที่ทางผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Singha Estate มีการทำสัญญา SBL เอาไว้ด้วยซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดความเป็นไปได้ของแรงกดดันราคาหุ้นในทางลง ซึ่งหากเราไม่ทราบประเด็นนี้ก็ถือว่าเรายังไม่รู้น้ำหนักความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับราคาหุ้นที่เราถืออยู่นั่นเอง
หมายเหตุ บทความนี้มีความตั้งใจเพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น มิได้ชี้นำให้ซื้อหรือขาย และเป็นข้อมูลที่นำมาจากข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนพบเจอ