อะไรคือ “การขายชอร์ต” (24 กรกฎาคม 2560)
June 22, 2017 พิมพ์ฝัน เจียรพิพัฒนกุล
Short Selling คือ การขายเพื่อเก็งกำไรในกรณีที่เราคาดหุ้นว่าจะลง ซึ่งตรงกันข้ามกับ การซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรในกรณีที่เราคาดว่าหุ้นจะขึ้น หลักการของการขายชอร์ตคือเราไม่จำเป็นต้องมีหุ้นตัวนั้นอยู่ในมือแต่เราสามารถยืมหุ้นจากโบรคเกอร์มาขายออกไปก่อน หลังจากนั้นหากราคาหุ้นลงไปจริงตามที่เราคาด เราก็จะมาซื้อหุ้นตัวนั้นกลับภายหลังในราคาที่ต่ำกว่าและคืนหุ้นที่เรายืมมาให้กับโบรคเกอร์ กำไรที่เราจะได้ก็คือส่วนต่างระหว่างราคาที่เราขายกับราคาที่เราซื้อกลับหลังหักต้นทุนต่างๆที่เกิดขึ้น จุดประสงค์ของการขายชอร์ตก็คือการเพิ่มช่องทางให้นักลงทุนได้ทำกำไรจากหุ้นขาลง เพราะโดยปกติแล้วราคาหุ้นนั้นไม่ได้ขึ้นไปตลอดกาล
ซี้อหุ้น VS. ขายชอร์ต
ความแตกต่างที่สำคัญของการขายชอร์ตเมื่อเทียบกับการซื้อหุ้น คือเรามีต้นทุนที่สูงกว่าเพราะมีต้นทุนค่าดอกเบี้ยเพิ่มเข้ามา เพราะหากเราซื้อหุ้นเราก็จะมีต้นทุนเพียงค่าคอมมิชชั่นฝั่งซื้อและฝั่งขาย แต่เมื่อเราขายชอร์ตเราจะต้องเสีย 1. ค่าคอมมิชชั่น 2. ค่ายืมหุ้นซึ่งคิดโดยใช้มูลค่าหุ้นที่เรายืมคูณด้วยอัตราดอกเบี้ยที่โบรคเกอร์กำหนดต่อปี (อัตราดอกเบี้ยของแต่ละโบรคเกอร์จะอยู่ในช่วง 3%-6%ต่อปี) และคูณด้วยจำนวนวันที่เรายืมหารด้วย 365 วัน เพราะฉะนั้นหากเราคาดว่าราคาหุ้นสามารถลงได้มากกว่าต้นทุนค่าคอมมิชชั่นรวมดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายแล้วมันก็คุ้มที่จะขายชอร์ต
ความแตกต่างของ การขายชอร์ตหุ้น (SBL) VS. การยืมหุ้นตัวเองมาขายก่อน (SAP)
SBL หรือ Securities Borrowing and Lending คือการยืมหุ้นมาจากโบรคเกอร์และมีต้นทุนค่ายืมเป็นดอกเบี้ย ในขณะที่ SAP หรือ Short Against Port คือเรามีหุ้นอยู่แต่เรามองว่ามันจะยังไม่ไปต่อเร็วๆ นี้(หรือเราขาดทุนอยู่แล้วแต่ต้องการขายตัดขาดทุนออกไปก่อน) จึงเลือกที่จะขายออกมาก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยซื้อหุ้นกลับที่ราคาต่ำกว่าด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมที่ขายออกไป (หรือซื้อหุ้นจำนวนเท่าเดิมแต่ใช้เงินน้อยลง) เมื่อหุ้นเด้งกลับมาที่ราคาทุนจึงค่อยขายทำกำไรออกไป
ทำอย่างไรจึงจะขายชอร์ตได้
เนื่องจากหลักทรัพย์ที่ขายชอร์ตถือเป็นภาระหนี้ประเภทหนึ่งซึ่งจะมีการปรับราคาตามราคาตลาด และจะแสดงมูลค่าเป็น มูลค่าหลักทรัพย์ที่เราขายชอร์ต (Short Market Value) เราจึงต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ประเภท Credit Balance และวางเงินหลักประกันตามที่โบรคเกอร์กำหนด และทำสัญญา”ยืม”และ”ให้ยืม” หลักทรัพย์กับทางโบรคเกอร์ กรณีเรายืมหุ้นเราก็จะเสียดอกเบี้ยและค่าดำเนินการต่างๆ แต่หากมีคนยืมหุ้นเราเราก็จะเป็นผู้ได้รับดอกเบี้ย